1. กำหนดวันที่จะจัดงาน
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อจะจัดงานแต่งงานคือการกำหนดวัน / เวลาที่จะจัดงานนั่นเอง โดยการกำหนดวัน / เวลาที่จะจัดงานแต่งงานนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวก และความเหมาะสมของทั้งเจ้าบ่าว / เจ้าสาว อาจจะเป็นวันที่มีการดูฤกษ์ยามมาแล้วว่าเป็นวันมงคลตามความเชื่อ หรืออาจจะเป็นวัน / เวลาที่ทางเจ้าบ่าว / เจ้าสาว รวมไปถึงครอบครัวดูแล้วว่ามีความสะดวกมากที่สุดก็ได้
2. หาสถานที่จัดงาน
สำหรับสถานที่ในการจัดงานแต่งพิธีเช้านั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าภาพ รวมไปถึงความเหมาะสมในเรื่องการจัดงาน และจำนวนแขกที่จะมาร่วมงานเป็นหลัก อาจจะเป็นการจัดงานที่บ้าน ที่โรงแรม หรือสถานที่ให้บริการจัดงานแต่งงาน โดยการเลือกสถานที่จัดงานแต่งพิธีเช้าถ้าไม่ได้จัดในโรงแรมควรจะเป็นสถานที่ที่มีความร่มรื่น สถานที่กว้างขวาง โปร่งสบาย เพราะว่าในตอนเช้านั้นจะมีแสงแดด ถ้าสถานที่มีความคับแคบ หรือมีร่มเงาไม่เพียงพอก็จะทำให้ผู้ที่มาร่วมงานต้องเจอกับอากาศร้อนนั่นเอง ซึ่งการจัดงานที่บ้าน หรือสถานที่จัดงานแต่งงานมักจะเจอกับปัญหาเรื่องแสงแดดอยู่เสมอ
3. เรียนเชิญผู้ที่จะมาร่วมงาน
เมื่อกำหนดวัน / เวลา สถานที่ได้แล้ว สิ่งต่อไปที่คู่บ่าว / สาวต้องทำคือการบอกกล่าวญาติมิตรเพื่อให้มาร่วมงานในวัน / เวลา ซึ่งการเรียนเชิญผู้ที่จะมาร่วมงานนั้นจะนิยมทำด้วยการแจกการ์ดเชิญ โดยถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอาวุโสสูง ทางบ่าว / สาวจะไปเชิญด้วยตัวเองพร้อมการ์ดเชิญ แต่ถ้าเป็นเพื่อนก็อาจจะใช้การโทรศัพท์ไปเชิญ หรือการเชิญด้วยช่องทางการติดต่อต่างๆ ที่เหมาะสม เรื่องสำคัญที่ลืมไม่ได้คือต้องระบุวัน / เวลา สถานที่ให้ชัดเจนในการ์ดเชิญ เพื่อที่ผู้มาร่วมงานจะได้เดินทางมาได้อย่างสะดวก
4. นิมนต์พระ และจัดเตรียมสถานที่
ตามประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันนั้น งานแต่งพิธีเช้านั้นจะมีพิธีสงฆ์รวมอยู่ในงานด้วย ทำให้ทางเจ้าภาพต้องไปนิมนต์พระจากวัดที่มีความนับถือศรัทธาให้มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ รับบาตร รวมไปถึงฉันอาหารเช้าเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นชีวิตคู่ของบ่าว / สาวนั่นเอง โดยส่วนมากจะนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป รวมไปถึงต้องมีการจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ในพิธีการให้ครบถ้วน ซึ่งถ้าเจ้าภาพใช้บริการสถานที่ของโรงแรม หรือสถานที่รับจัดงานแต่งงาน ก็จะไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องของการจัดเตรียมสถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ เนื่องจากทางผู้ให้บริการสถานที่จะเป็นผู้จัดเตรียมให้อย่างเรียบร้อย
แต่ถ้าเป็นการจัดงานด้วยตัวเองที่บ้าน ทางเจ้าภาพควรจะหาผู้ที่มีความชำนาญ หรือบริษัทรับจัดงานมาเป็นผู้เตรียมการในเรื่องของงานพิธีให้ ไม่ควรเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะทางบริษัทรับจัดงานจะสามารถจัดเตรียมสิ่งต่างๆ ได้อย่างเรียบร้อยครบถ้วน ทำให้เจ้าภาพไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องนี้
5. เริ่มต้นงานด้วยพิธีสงฆ์
การจัดงานงานแต่งพิธีเช้านั้นส่วนมากจะนิยมเริ่มต้นด้วยพิธีสงฆ์ โดยจะมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์ตามขั้นตอน เมื่อสวดเจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้วก็จะนิมนต์พระสงฆ์มารับบาตรจากบ่าว / สาว จากนั้นก็จะนิมนต์พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้า พอพระสงฆ์ฉันเสร็จบ่าว / สาวก็จะถวายจตุปัจจัยต่างๆ พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนา บ่าว / สาวกรวดน้ำ รับพร รับน้ำพระพุทธมนต์ ก็เป็นการเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์
6. เตรียมขบวนขันหมาก
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ก็จะเป็นการแห่ขันหมาก ซึ่งการแห่ขันหมากนั้นจะมีฤกษ์ยามที่เป็นเวลามงคล โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ตั้งขบวนในบริเวณหน้าบ้านเจ้าสาว หรือหน้าบริเวณงาน โดยในขบวนขันหมากจะประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ ตามประเพณีนิยม โดยเรียงลำดับดังนี้ พานขันหมากเอก / พานสินสอดทองหมั้น / พานแหวนหมั้น / พานธูปเทียนแพ / ต้นกล้วย ต้นอ้อย ตามด้วยพานขันหมากโทที่ประกอบด้วยขนมมงคลต่างๆ
โดยพานขันหมากเอกจะให้ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ พานสินสอดทองหมั้นจะให้พ่อ และแม่เจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ พานแหวนหมั้นจะให้พี่ หรือน้องเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ ส่วนพานธูปเทียนแพเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ถือเอง ส่วนพานอื่นๆ ในขบวนขันหมากก็ให้ผู้ร่วมขบวนช่วยกันถือ จากนั้นขบวนขันหมากก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่บ้านเจ้าสาว หรือบริเวณที่กำหนดไว้
ซึ่งก่อนที่จะได้เข้าบ้านต้องมีการผ่านประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งจะมีจำนวนประตูที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ความเหมาะสม โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องมีการให้ของขวัญเพื่อผ่านแต่ละประตูจนเข้าไปถึงบ้านเจ้าสาว
7. เข้าสู่พิธีสู่ขอ พิธีหมั้น และรับไหว้
เมื่อขบวนของฝ่ายเจ้าบ่าวได้เข้าไปในบ้านเจ้าสาวแล้วก็จะเข้าสู่พิธีสู่ขอ โดยจะเป็นการเจรจาสู่ขอเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าว โดยผู้สู่ขอจะเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว โดยมีการนำสินสอดมาวางให้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวพิจารณา เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวตอบตกลงก็โปรยถั่วงา ข้าวตอกดอกไม้ลงไปยังสินสอด จากนั้นให้นำสินสอดไปเก็บ แล้วให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวมายังพิธีหมั้น
เมื่อเจ้าสาวมาถึงพิธีพร้อมเจ้าบ่าวแล้วให้กราบญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝั่งที่อยู่ในพิธี จากนั้นเจ้าบ่าวก็จะสวมแหวนให้เจ้าสาว รวมไปถึงมอบเครื่องประดับอื่นๆ ให้ตามที่ได้จัดเตรียมมา เจ้าสาวก็จะสวนแหวนให้กับเจ้าบ่าว เมื่อสวมแหวนเสร็จก็จะถึงพิธีการรับไหว้ โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนำพานธูปเทียนแพไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งญาติผู้ใหญ่ก็จะอวยพร รวมไปถึงมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว
8. พิธีรดน้ำสังข์
เมื่อเสร็จพิธีรับไหว้แล้วจะถึงพิธีรดน้ำสังข์ โดยบ่าวสาวจะเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วจึงไปนั่งบริเวณฝั่งที่ได้จัดเตรียมไว้ การนั่งนั้นจะให้เจ้าสาวนั่งทางฝั่งซ้ายของเจ้าบ่าว เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วประธานในพิธีจะทำการคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝก เจิมหน้าผาก จากนั้นก็จะรดน้ำอวยพรให้กับบ่าวสาวเป็นคนแรก จากนั้นก็จะเป็นญาติผู้ใหญ่ของบ่าวสาว ตามด้วยผู้มาร่วมงานคนอื่นๆ ตามลำดับอาวุโส
9. พิธีส่งตัวเข้าหอ
สำหรับพิธีส่งตัวเข้าหอนั้นเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของงานแต่งพิธีเช้าเช่นกัน โดยพิธีนี้จะจัดขึ้นในห้องนอนของคู่บ่าวสาว หรือห้องที่จัดเตรียมไว้ โดยภายในห้องนอนจะมีการเตรียมของมงคลเกี่ยวกับชีวิตคู่จัดวางไว้ และให้คู่ผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพนับถือมาเป็นผู้ปูที่นอนพร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนที่นอน
เมื่อทำพิธีปูเตียงเสร็จผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะพาเจ้าสาวเข้ามาในห้อง โดยที่มีเจ้าบ่าวรออยู่ในห้องแล้ว จากนั้นให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวกราบคู่ผู้ใหญ่ที่มาทำพิธีปูเตียง รวมไปถึงกราบญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่มาส่งตัว โดยญาติผู้ใหญ่ก็จะให้พร รวมไปถึงให้คำแนะนำในเรื่องการใช้ชีวิตคู่ แล้วญาติผู้ใหญ่ก็จะออกจากห้องปล่อยให้บ่าวสาวอยู่ด้วยกันตามลำพังในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการจบขั้นตอนพิธีสำหรับงานแต่งพิธีเช้า
จะเห็นได้ว่างานแต่งพิธีเช้านั้นเป็นงานที่แม้จะมีรายละเอียดต่างๆ มากพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่พิธีที่วุ่นวายจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นการทำตามประเพณีอย่างครบถ้วน โดยขั้นตอนต่างๆ นั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามฤกษ์ยามที่เหมาะสม ซึ่งในบทความนี้ได้แนะนำเรื่องต่างๆ ที่ควรรู้ของงานแต่งพิธีเช้าไว้ให้แล้วอย่างครบถ้วน